แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช
เมืองคนดีนครศรีธรรมราช เป็นเมืองที่มีเสน่ห์น่าไปเยือนมากเมืองหนึ่ง นอกจากจะมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์และสวยงาม เช่น เขาหลวง หรือชุมชนพัฒนาตัวอย่างที่บ้านคีรีวง ที่เมืองนครฯก็ยังเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรม ทั้งหนังตะลุง โนรา ที่แฝงไว้ด้วยคติธรรม และเป็นเมืองพุทธในแดนใต้ ดังมีพระมหาธาตุวรมหาวิหาร มรดกทางวัฒนธรรมที่เมืองนครมีอยู่ในปัจจุบันนั้นได้รับการสะสมมาจากประวัติศาสตร์อันยาวนานว่า 1800 ปี
เมืองนครศรีธรรมราช หรือ นครอันเป็นสง่าแห่งพระราชาผู้ทรงธรรมรุ่งเรืองอยู่ประมาณร้อยกว่าปี และเสื่อมลงเมื่อยกทัพไปตีเมืองลังกา และโจรชวาถือโอกาสเข้าปล้นเมืองถึง 3 ครั้งประกอบกับเกิดไข้ห่าระบาด จึงเป็นเหตุให้บ้านเมืองถูกทิ้งร้าง จนกระทั้งสมัยอยุธยา ผู้คนเริ่มกลับมาตั้งบ้านเมืองใหม่อีกครั้ง และนครศีธรรมราชได้กลายมาเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ของราชอาณาจักรอยุธยา
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงรัชกาลที่ 5 ได้มีการแก้ไขการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ใหม่ นครศรีธรรมราชได้เปลี่ยนฐานะเป็นมณฑลนครศรีธรรมราชในปี พ.ศ.2439 จนกระทั่ง พ.ศ.2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้ยุบมณฑลนครศรีธรรมราชและเปลี่ยนมาเป็นจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน
แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช

เมืองคอนคนคอน
ที่...นครศรีธรรมราช
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง วัดพระมหาธาตุเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชั้นวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดพระบรมธาตุ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้และประเทศไทย ภายในวัดพระมหาธาตุฯ มีวิหารที่สำคัญหลายหลังประดิษฐานอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระวิหารหลวง มีความงามตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา นอกจากนั้นยังมี วิหารสามจอม วิหารที่มีพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ชื่อว่า “พระศรีธรรมาโศกราช” ปรดิษฐานอยู่ วิหารพระมหาภิเนษกรมน์ (วิหารพรระทรงม้า) วิหารทับเกษตร ส่วนวิหารเขียนและวิหารโพธิ์ลังกานั้นเป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่พุทธศาสนิกชนถวายเป็นพุทธบูชา


อ่างเก็บ น้ำกะทูน

อ่างเก็บน้ำกะทูน เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่ตำบลกะทูน อำเภอพิปูน พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความทุกข์ยากของชาวบ้านที่ต้องประสบเหตุการณ์สูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ไปกับอุทกภัยเมื่อปี 2531 จึงทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้น แล้วเสร็จในปี 2540 ครอบคลุมพื้นที่ 12,500 ไร่ นับว่าเป็นอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่มากและใต้อ่างเก็บน้ำในอดีตก็คือหมู่บ้านกะทูนในอดีตนั่นเอง


อุทยานแห่งชาติเขาหลวง



อุทยานแห่งชาติเขาหลวง มีเนื้อที่ประมาณ 570 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย ประกอบด้วยเทือกเขาที่สลับซับซ้อน มียอดเขาหลวงเป็นยอดเขาสูงสุดประมาณ 1,835 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งสูงที่สุดในภาคใต้เป็นแหล่งของต้นน้ำลำธารและคลองต่าง ๆ กว่า 15 สาย มีสภาพเป็นป่าดงดิบชื้นและป่าดิบเขา เส้นทางการเดินในอุทยานเป็นวงรอบ มีธรรมชาติที่สวยงามและมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีพืชและสัตว์ที่หายากอยู่มากมาย อุทยานแห่งนี้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม (Thailand Tourism Awards) ประจำปี 2541 รางวัลยอดเยี่ยมประเภท แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ช่วงเวลาที่เหมาะในการเดินทางมาท่องเที่ยว คือเดือนมกราคม-เดือนกรกฎาคม



น้ำตกพรหมโลก

น้ำตกพรหมโลก อยู่ตำบลพรหมโลก ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 4016 (นครศรีธรรมราช-พรหมคีรี) ถึงกิโลเมตรที่ 20 มีทางแยกซ้ายเข้าทางหลวง 4132 อีกประมาณ 5 กิโลเมตร จัดว่าเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีลานหินกว้างและสวยงามแห่งหนึ่ง มีต้นน้ำจากเ ทือกเขานครศรีธรรมราชไหลลงมาบนแผ่นหิน 4 ชั้น (หนาน) ได้แก่ หนานบ่อน้ำวน หนานวังไม้ปัก หนานวังหัวบัว หนานวังอ้ายแล สายน้ำไหลผ่านหมู่ไม้นานาพันธุ์ริมเชิงเขา แล้วไหลไปเป็นคลองท่าแพและลงสู่อ่าวไทยที่ตำบลปากพูน


 ชายทะเลปากพนังและแหลมตะลุมพุก

ชายทะเลปากพนังและแหลมตะลุมพุก เป็นสถานที่ซึ่งอยู่บริเวณตอนบนของอำเภอปากพนัง ด้านที่ติดกับทะเลด้านใน (อ่าวนครฯ) มีประชากรตั้งถิ่นฐานอยู่ ส่วนด้านนอกที่ติดกับอ่าวไทยเป็นหาดทรายและมีต้นสนขึ้นเป็นแนวยาว เป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์มหาวาตภัยครั้งใหญ่จากพายุโซนร้อนแฮร์เรียตพัดถล่มแหลมตะลุมพุก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2505 ลักษณะของชายหาดปากพนังเป็นชายหาดยาวไปตามชายฝั่งทะเล มีแหลมตะลุมพุกเป็นแหลมทรายรูปจันทร์เสี้ยวยื่นไปในอ่าวไทย สามารถขับรถไปจนถึงปลายแหลมได้ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 4013 (นครศรีธรรมราช-ปากพนัง) มีทางแยกเข้าสู่แหลมตะลุมพุก ประมาณ 16 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางมีการทำนากุ้งสองข้างทางสลับกับแนวป่าชายเลน



สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดนครราชสีมา

อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

อำเภอเมือง จ.นครราชสีมา

อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เป็นอนุสรณ์แด่วีรกรรมอันกล้าหาญของวีรสตรีไทย หรือย่าโม ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันติดปากโดยทั่วไป สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476 ตั้งอยู่กลางเมือง ชาวต่างถิ่นที่แวะมาเยือนและชาวเมืองโคราช นิยมมาสักการะและขอพรจากย่าโมอยู่เสมอ อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำ สูง 1.85 เมตร หนัก 325 กิโลกรัม แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทาน ในท่ายืน มือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนฐานไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ซึ่งบรรจุอัฐิของท่านท้าวสุรนารีมีนามเดิมว่า คุณหญิงโม เป็นภรรยาปลัดเมืองนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ได้ยกทัพเข้ายึดเมืองโคราช คุณหญิงโมได้รวบรวมชาวบ้านเข้าสู้รบ และต่อต้านกองทัพของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ไม่ให้ยกมาตีกรุงเทพฯได้เป็นผลสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโมเป็นท้าวสุรนารี ประชาชนพร้อมใจกันจัดงานเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะ ของท้าวสุรนารีขึ้นระหว่างวันที่ 23 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน เป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีของท่าน



ปรางค์กู่

อำเภอบัวใหญ่ จ.นครราชสีมา

ปรางค์กู่ ตั้งอยู่ในโรงเรียนวัดบ้านกู่ ตำบลดอนตะหนิน จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ไปประมาณ 74 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตรงตู้ยามตำรวจทางหลวงบ้านโนนตาเถรไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปทางโรงเรียนวัดบ้านกู่ ลักษณะเป็นปรางค์สมัยขอมขนาดเล็ก ฐานสี่เหลี่ยม ก่อด้วยศิลาแลงวางซ้อนกันจากฐานถึงยอด แต่ปัจจุบันสภาพปรักหักพังไปแล้ว หลงเหลือเพียงซากฐานไม่สูงนัก ภายในองค์ปรางค์มีพระพุทธรูปดินเผาซึ่งยังหลงเหลือให้เห็นอยู่ 4-5 องค์



ปราสาทพนมวัน

อำเภอเมือง จ.นครราชสีมา

ปราสาทพนมวัน ตั้งอยู่ที่บ้านมะค่า ตำบลโพธิ์ จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 2 (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ประมาณ 15 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางด้านขวามือ แยกเข้าไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นปราสาทขอมที่น่าชมอีกแห่งหนึ่ง สันนิษฐานว่าเดิมก่อสร้างด้วยอิฐในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 18–19 จึงได้สร้างอาคารหินซ้อนทับลงไป จากจารึกที่ค้นพบ เรียกปราสาทแห่งนี้ว่า “เทวาศรม” เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ต่อมาจึงได้เปลี่ยนแปลงให้เป็นพุทธสถาน ปัจจุบันแม้จะหักพังไปมาก แต่ยังคงเห็นซากโบราณสถานหลงเหลือ เป็นเค้าโครงค่อนข้างชัดเจนเช่น ปรางค์จตุรมุของค์ประธานหลักซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกโดยมีมณฑปอยู่เบื้องหน้า และมีฉนวน (ทางเดิน) เชื่อมต่อระหว่างอาคารทั้งสอง
ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปรางค์มีอาคารก่อด้วยหินทรายสีแดงเรียกว่า “ปรางค์น้อย” ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหินขนาดใหญ่ บริเวณโดยรอบปราสาทมีระเบียงคต สร้างด้วยหินทรายและศิลาแลงล้อมเป็นกำแพงอยู่ มีโคปุระ (ประตูทางเข้าเทวสถาน) ก่อสร้างเป็นรูปหอสูงทั้งสี่ทิศ บริเวณรอบนอกปราสาททางด้านทิศตะวันออก ห่างจากโบราณสถานเกือบ 300 เมตร มีร่องรอยของคูน้ำและเนินดินเรียกว่า “เนินอรพิม” นอกจากนี้ยังพบศิลาแลงจัดเรียงเป็นแนว คล้ายซากฐานอาคารบนเนินแห่งนี้ด้วย



ปราสาทพะโค

อำเภอโชคชัย จ.นครราชสีมา

ปราสาทพะโค ตั้งอยู่ที่ตำบลกระโทก จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 224 (นครราชสีมา-โชคชัย) ระยะทาง 29 กิโลเมตร ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 2071 อีกประมาณ 3 กิโลเมตร อยู่ริมถนนทางด้านขวามือ เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ก่อสร้างด้วยหินทรายสีขาว ประกอบด้วยกลุ่มโบราณสถาน 3 หลัง แต่ปัจจุบันเหลือให้เห็นเพียง 2 หลัง มีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปเกือกม้า ทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ได้พบชิ้นส่วนหน้าบันที่แสดงถึงอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรแบบบาปวน ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย



โบราณสถานเมืองเสมา

อำเภอสูงเนิน จ.นครราชสีมา

โบราณสถานเมืองเสมา ตั้งอยู่ที่ตำบลเสมา ห่างจากนครราชสีมาประมาณ 37 กิโลเมตร จากตลาดอำเภอสูงเนิน เดินทางข้ามลำตะคอง และผ่านบ้านหินตั้งไปจนถึงเมืองเสมาเป็นระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร แผนผังเมืองเสมาเป็นรูปไข่กว้าง 3 กิโลเมตร ยาว 4 กิโลเมตร ปัจจุบันยังเห็นร่องรอยคูเมือง และกำแพงดินล้อมรอบเป็นบางส่วน เมืองนี้เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี ตั้งขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 12 และมีพัฒนาการสืบเนื่องมาถึงพุทธศตวรรษที่ 16-17 ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมขอมโบราณ บริเวณเมืองเสมามีซากโบราณสถาน ก่อด้วยศิลาแลงและหินทรายหลงเหลืออยู่ มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุต่างๆ เป็นจำนวนมาก ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ พระนอนหินทรายและธรรมจักรเก่าแก่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในบริเวณวัดธรรมจักรเสมาราม



พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์

อำเภอเมือง จ.นครราชสีมา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดสุทธจินดา ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด จัดแสดงศิลปวัตถุทั้งที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดารวบรวมไว้ โบราณวัตถุที่กรมศิลปากรได้สำรวจขุดพบในเขตจังหวัดนครราชสีมา ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียงและที่มีผู้บริจาค ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูป มีทั้งพระศิลาสมัยขอม พระพุทธรูปสมัยอยุธยา พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ เครื่องเคลือบดินเผา เครื่องใช้สมัยโบราณ ภาพไม้แกะสลัก เปิดให้เข้าชมระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. ในวันพุธถึงวันอาทิตย์ ปิดวันจันทร์ วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 5 บาท ชาวต่างประเทศ 10 บาท ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0 4424 2958 หรือ www.thailandmuseum.com



ประตูชุมพล

อำเภอเมือง จ.นครราชสีมา

ประตูชุมพล ตั้งอยู่ด้านหลังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองนครราชสีมาเป็นเมืองหน้าด่านเมื่อ พ.ศ. 2199 อันเป็นปีที่พระองค์เสด็จขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา และสร้างกำแพงประตูเมืองอย่างแข็งแรง โดยมีช่างชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นมิตรประเทศกับกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้น เป็นผู้ออกแบบผังเมือง เมืองนครราชสีมาในขณะนั้นมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 1,000 x 1,700 เมตร เดิมมีประตูเมืองทั้งหมด 4 ประตู ได้แก่ ประตูพลแสนด้านทิศเหนือ ประตูพลล้านด้านทิศตะวันออก ประตูไชยณรงค์ด้านทิศใต้ และประตูชุมพลด้านทิศตะวันตก ปัจจุบันเหลือเพียงประตูชุมพลเท่านั้นที่เป็นประตูเมืองเก่า ส่วนอีกสามประตูได้สร้างขึ้นใหม่ ลักษณะประตูชุมพลเป็นประตูเชิงเทิน ก่อด้วยหินก้อนใหญ่และอิฐ ฉาบด้วยปูน ส่วนบนเป็นหอรบสร้างด้วยไม้แก่นหลังคามุงกระเบื้อง ประดับด้วยช่อฟ้า กระจังและนาคสะดุ้ง กำแพงต่อจากประตูทั้งสองข้างก่อด้วยอิฐ ส่วนบนสุดทำเป็นรูปใบเสมา



อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือ

อำเภอเมือง จ.นครราชสีมา

อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือ ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์ ตำบลโคกสูง อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 12.5 กิโลเมตร อยู่ทางด้านซ้ายมือตามเส้นทางสายนครราชสีมา-ชัยภูมิ ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2529 อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์สูง 175 เซนติเมตร สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของนางสาวบุญเหลือ และเหล่าบรรพบุรุษของชาวนครราชสีมาที่ได้พลีชีพเพื่อปกป้องชาติ เมื่อครั้งสงครามเจ้าอนุวงศ์ ปี พ.ศ. 2369 ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ ด้วยการใช้ดุ้นฟืนติดไฟโยนเข้าใส่กองเกวียนดินดำของกองทัพลาว จนระเบิดเสียหายหมดสิ้นและตัวนางได้สิ้นชีวิตในการสู้รบในครั้งนั้น



ปราสาทนางรำ

อำเภอประทาย จ.นครราชสีมา

ปราสาทนางรำ ตั้งอยู่ที่บ้านนางรำ ตำบลนางรำ ไปตามทางหลวงหมายเลข 2 (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ประมาณ 62 กิโลเมตร จนถึงแยกบ้านวัด เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 207 ไปประมาณ 22 กิโลเมตรถึงบ้านหญ้าคา (หรือก่อนถึงตัวอำเภอประทาย 11 กิโลเมตร) จากนั้นเลี้ยวซ้ายทางเข้าวัดปราสาทนางรำอีก 4 กิโลเมตร ชื่อ ปราสาทนางรำ มาจากว่า เดิมเคยมีรูปนางรำ เป็นหินสีเขียวทำแบบเทวรูป อยู่ทางทิศตะวันตกของวิหารห่างไป 1.5 กิโลเมตร ปัจจุบันเหลือแต่ร่องรอยของเทวสถานและแท่นหิน ปราสาทนางรำเป็นโบราณสถานสมัยขอมที่เรียกว่าเป็น อโรคยาศาล (โรงพยาบาล) สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ประกอบด้วยกลุ่มโบราณสถาน 2 กลุ่มตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน กลุ่มปรางค์ที่สมบูรณ์กว่าหลังอื่น ประกอบด้วยปรางค์องค์กลาง มีมุขยื่นออกไปข้างหน้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาท มีวิหารก่อด้วยศิลาแลงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ ส่วนซุ้มโคปุระหรือประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออก มีแผนผังเป็นรูปกากบาท นอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีสระน้ำขนาดเล็กก่อด้วยศิลาแลง ถัดจากปราสาทนางรำไปทางทิศใต้ มีปราสาทอีก 3 หลังเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ ซึ่งเหลือเพียงฐานและมีกรอบประตูและทับหลังหินทราย ตั้งแสดงอยู่ มีกำแพงศิลาแลงและคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบ



พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

อำเภอพิมาย จ.นครราชสีมา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิมาย บริเวณเชิงสะพานท่าสงกรานต์ ก่อนถึงปราสาทหินพิมายเล็กน้อย จากตัวเมืองนครราชสีมาเดินทางมาตามทางหลวงหมายเลข 2 (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ระยะทาง 50 กิโลเมตรถึงทางแยกตลาดแคเลี้ยวขวาไปตามทางหลวง 206 อีก 10 กิโลเมตร หากใช้บริการรถโดยสารสามารถขึ้นรถได้ที่สถานีขนส่งแห่งที่ 2 ในตัวเมืองนครราชสีมา
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสถานที่รวบรวมหลักฐานทางโบราณคดี และจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรือง ของวัฒนธรรมอีสานในอดีต โดยเฉพาะโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่ค้นพบในเขตอีสานตอนล่าง แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3ส่วน
ส่วนที่ 1 อาคารจัดแสดงชั้นบน จัดแสดงเรื่องพัฒนาการของสังคมในดินแดนอีสานตอนล่าง แสดงถึงรากฐานการกำเนิด อารยธรรมซึ่งมีมาจากความเชื่อต่าง ๆ ตลอดจนอิทธิพลวัฒนธรรมภายนอก ที่เข้ามามีบทบาทตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน
ส่วนที่ 2 อาคารชั้นล่าง จัดแสดงโบราณวัตถุศิลปะเขมรในอีสานตอนล่าง
ส่วนที่ 3 อาคารโถง จัดแสดงโบราณวัตถุซึ่งเป็นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหินทราย เช่น ทับหลัง เสาประดับกรอบประตู กลีบขนุน บัวยอดปราสาท และปราสาทจำลอง นอกจากนี้บริเวณรอบอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ยังได้จัดแสดงใบเสมาและทับหลังที่สวยงามอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 4447 1167



แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท

อำเภอโนนสูง จ.นครราชสีมา

แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 บ้านปราสาทใต้ ตำบลธารปราสาท จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (นครราชสีมา-ขอนแก่น ถึงกิโลเมตรที่ 44 มีทางแยกซ้ายเข้าไปอีก 1 กิโลเมตร หากเดินทางโดยรถประจำทางจากกรุงเทพฯหรือนครราชสีมา ให้นั่งรถสายที่จะไป ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย หรือ กาฬสินธุ์ ลงรถที่กม.44 แล้วต่อรถจักรยานยนต์รับจ้างจากปากทางเข้าหมู่บ้าน
บ้านปราสาทนับเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งที่สอง ต่อจากบ้านเชียง ที่ได้จัดทำในลักษณะพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง จากหลักฐานที่ค้นพบสันนิษฐานว่า มีชุมชนอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ มีหลักฐานของกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีและแบบเขมรโบราณ ช่วงระหว่าง 1,500-3,000 ปีมาแล้ว หลุมขุดค้นที่ตกแต่งและเปิดให้ชม มีทั้งหมด 3 แห่ง คือ
หลุมขุดค้นที่ 1 มีโครงกระดูกฝังอยู่ในชั้นดินแต่ละสมัย แต่ละยุคมีลักษณะการฝังที่ต่างกันไป ยุค 3,000 ปี อยู่ในชั้นดินระดับล่างสุดลึก 5.5 เมตร โครงกระดูกจะหันหัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ยุค 2,500 ปี หันหัวไปทางทิศตะวันออก ยุค 2,000 ปีหันหัวไปทางทิศใต้ แต่คติในการฝังจะคล้ายกันคือจะนำเครื่องประดับ เช่น กำไลเปลือกหอย ลูกปัด แหวนสำริด กำไลสำริด เครื่องประดับศีรษะทำด้วยสำริดและภาชนะของผู้ตายฝังร่วมไปด้วยกับผู้ตาย ในช่วงสามระยะแรกนี้เป็นภาชนะดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดง แบบลายเชือกทาบ ลักษณะหลักของภาชนะเป็นแบบคอแคบปากบาน แต่บางใบมีทรงสูงเหมือนคนโท บางชิ้นมีลักษณะเป็นทรงกลมสั้น ต่อมาในยุค 1,500ปี นั้นลักษณะภาชนะจะเปลี่ยนเป็นแบบพิมายดำ คือ มีสีดำ ผิวขัดมัน เนื้อหยาบบาง
หลุมขุดค้นที่ 2 ในดินชั้นบนพบร่องรอยของศาสนสถานในพุทธศตวรรษที่ 13-16 เรียกกันว่า “กู่ธารปราสาท” และพบเศียรพระพุทธรูปในสมัยเดียวกัน ศิลปะทวารวดีแบบท้องถิ่น นอกจากนี้ยังพบรูปปั้นดินเผาผู้หญิงครึ่งตัว เอามือกุมท้องลักษณะคล้ายตั้งครรภ์ และชิ้นส่วนลายปูนปั้นประดับปราสาท
หลุมขุดค้นที่ 3 พบโครงกระดูกในชั้นดินที่ 5.5 เมตร เป็นผู้หญิงทั้งหมด เป็นที่น่าสังเกตว่ากระดูกทุกโครงในหลุมนี้ไม่มีศีรษะ และภาชนะนั้นถูกทุบให้แตกก่อนที่จะนำลงไปฝังด้วยกัน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นโครงกระดูกของผู้หญิง ที่ถูกประหารชีวิตและนำศีรษะไปแห่ประจาน และได้พบส่วนกะโหลกอยู่รวมกันในอีกที่หนึ่ง ซึ่งห่างจากจุดเดิมเพียง 500 เมตร ชาวบ้านปราสาทจะร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลในวันที่ 21 เมษายน ของทุกปี



อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

อำเภอพิมาย จ.นครราชสีมา

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิมาย ประกอบด้วยโบราณสถานสมัยขอม ที่ใหญ่โตและงดงามอลังการนั่นคือ “ปราสาทหินพิมาย” แหล่งโบราณคดีที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ บนพื้นที่ 115 ไร่ วางแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 565 เมตร ยาว 1,030 เมตรชื่อ “พิมาย” น่าจะมาจากคำว่า “วิมาย” หรือ “วิมายปุระ” ที่ปรากฏในจารึกภาษาเขมร บนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้า ของปราสาทหินพิมาย และยังปรากฏชื่อในจารึกอื่นอีกหลายแห่ง อาจจะเป็นคำที่ใช้เรียกรูปเคารพหรือศาสนาสถาน
สิ่งที่เป็นลักษณะพิเศษของปราสาทหินพิมาย คือ ปราสาทหินแห่งนี้สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทหินอื่นที่มักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทาง ที่ตัดมาจากเมืองยโศธรปุระเมืองหลวงของอาณาจักรเขมร ซึ่งเข้าสู่เมืองพิมายทางด้านทิศใต้
จากหลักฐานศิลาจารึกและศิลปะการก่อสร้าง บ่งบอกว่าปราสาทหินพิมาย คงจะเริ่มสร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 รูปแบบทางศิลปกรรมของตัวปราสาทเป็นแบบปาปวน ซึ่งเป็นศิลปะที่รุ่งเรืองในสมัยนั้น โดยมีลักษณะของศิลปะแบบนครวัด ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยต่อมาปนอยู่บ้าง และมาต่อเติมอีกครั้งในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งครั้งนั้นเมืองพิมายเป็นเมืองซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาณาจักรเขมร ปราสาทหินแห่งนี้สร้างเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา ลัทธิมหายานมาโดยตลอด เนื่องจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน
ปราสาทหินพิมายมีสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจดังนี้

สะพานนาคราช เมื่อเข้าไปเยี่ยมชมปราสาทหินพิมายจะผ่านส่วนนี้เป็นส่วนแรก จะเห็นสะพานนาคราชและประติมากรรมรูปสิงห์ ตั้งอยู่ด้านหน้าของซุ้มประตูด้านทิศใต้ของปรางค์ประธาน ซึ่งเป็นส่วนหน้าของปราสาท ทั้งนี้อาจมีจุดมุ่งหมายในการสร้างให้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเชื่อมต่อ ระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ ตามคติความเชื่อในเรื่องจักรวาลทั้งในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ มีลักษณะเป็นรูปกากบาท ยกพื้นขึ้นสูงจากพื้นดินประมาณ 2.50 เมตร ราวสะพานโดยรอบทำเป็นลำตัวพญานาค ชูคอแผ่พังพานเป็นนาคเจ็ดเศียร มีลำตัวติดกันเป็นแผ่น หันหน้าออกไปยังเชิงบันไดทั้งสี่ทิศ
ซุ้มประตูและกำแพงชั้นนอกของปราสาท ถัดจากสะพานนาคราชเข้ามาเป็นซุ้มประตูหรือที่เรียกว่า โคปุระ ของกำแพงปราสาทด้านทิศใต้ ก่อด้วยหินทราย มีผังเป็นรูปกากบาทและมีซุ้มประตูลักษณะเดียวกันนี้อีก 3 ทิศ คือ ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก โดยมีแนวกำแพงสร้างเชื่อมต่อระหว่างกันเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวจากเหนือถึงใต้ 277.50 เมตร และกว้างจากตะวันออกไปตะวันตก 220 เมตร ซุ้มประตูด้านทิศตะวันตกมีทับหลังชิ้นหนึ่งสลัก เป็นรูปขบวนแห่พระพุทธรูปนาคปรกที่ประดิษฐานอยู่เหนือคานหาม
ซุ้มประตูและกำแพงชั้นใน (ระเบียงคด) เมื่อผ่านจากซุ้มประตูและกำแพงชั้นนอกไปแล้ว ก็จะถึงซุ้มประตูและกำแพงชั้นใน ซึ่งล้อมรอบปรางค์ประธาน กำแพงชั้นในของปราสาทแตกต่างจากกำแพงชั้นนอก คือ ก่อเป็นห้องยาวต่อเนื่องกันคล้ายเป็นทางเดิน มีหลังคาคลุม อันเป็นลักษณะที่เรียกว่า ระเบียงคด มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความยาวจากเหนือถึงใต้ 80 เมตร และความกว้างจากตะวันออกถึงตะวันตก 72 เมตร มีทางเดินกว้าง 2.35 เมตร เดินทะลุกันได้ตลอดทั้งสี่ด้าน หลังคามุงด้วยแผ่นหิน การบูรณะระเบียงคดเมื่อปีพ.ศ 2532 ได้พบแผ่นทองดุนลายรูปดอกบัว 8 กลีบ บรรจุไว้ในช่องบนพื้นหินของซุ้มประตูระเบียงคดเกือบจะทุกด้าน แผ่นทองเหล่านี้คงไว้เพื่อความเป็นสิริมงคล เหมือนที่พบในปราสาทอื่นอีกหลายแห่ง
ปรางค์ประธาน ตั้งอยู่กลางลานภายในระเบียงคด เป็นศูนย์กลางของศาสนสถานแห่งนี้ ปรางค์ประธานสร้างด้วยหินทรายสีขาวทั้งองค์ ต่างจากซุ้มประตู(โคปุระ)และกำแพงชั้นในและชั้นนอกที่สร้างด้วยหินทรายสีแดงเป็นหลัก
มีหินทรายสีขาวเป็นส่วนประกอบบางส่วน เนื่องจากหินทรายสีขาวมีคุณสมบัติคงทนดีกว่าหินทรายสีแดง องค์ปรางค์สูง 28 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสองยาวด้านละ 22 เมตร ด้านหน้ามีมณฑปเชื่อมต่อกับองค์ปรางค์โดยมีฉนวนกั้น องค์ปรางค์และมณฑปตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ส่วนด้านอื่น ๆ อีกสามด้านมีมุขยื่นออกไปมีบันไดและประตูขึ้นลงสู่องค์ปรางค์ทั้งสี่ด้าน
ปรางค์พรหมทัต ตั้งอยู่ด้านหน้าปรางค์ประธานเยื้องไปทางซ้ายสร้างด้วยศิลาแลง มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม กว้าง 14.50 สูงประมาณ 15 เมตร สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ภายในปรางค์พบประติมากรรมหินทรายจำหลัก เป็นรูปประติมากรรมฉลององค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่7 (จำลอง) ที่เรียกว่า ปรางค์พรหมทัต ก็เพื่อให้เข้ากับตำนานพื้นเมืองเรื่องท้าวพรหมทัตพระเจ้าแผ่นดิน ปัจจุบันกรมศิลปากรได้เก็บรักษาองค์จริง ไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย
ปรางค์หินแดง ตั้งอยู่ทางด้านขวา สร้างด้วยหินทรายสีแดง กว้าง 11.40 เมตร สูง 15 เมตร มีมุขยื่นออกไปเป็นทางเข้าทั้ง 4 ทิศ เหนือกรอบประตูทางเข้าด้านทิศเหนือมีทับหลัง สลักเป็นภาพเล่าเรื่องในมหากาพย์ภารตะตอนกรรณะล่าหมูป่า ออกจากระเบียงคด (กำแพงชั้นใน) มาบริเวณลานชั้นนอกทางด้านทิศตะวันตก ล้อมรอบด้วยกำแพงชั้นนอกอีกชั้นหนึ่ง ประกอบด้วยอาคารที่เรียกว่า บรรณาลัย มีสองหลังตั้งอยู่คู่กันและมีสระน้ำอยู่ทั้งสี่มุม
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.30-18.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทยคนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 40 บาท มีบริการยุวมัคคุเทศก์ซึ่งเป็นนักเรียนจากโรงเรียนพิมายวิทยานำชมสถานที่ฟรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0 4447 1568
โบราณสถานนอกกำแพงปราสาทหินพิมาย มีสิ่งที่น่าสนใจดังนี้

ประตูเมืองและกำแพงเมืองพิมาย สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 บรรดาประตูเมืองทั้ง 4 ทิศ ประตูชัยด้านทิศใต้นับเป็นประตูเมืองที่สำคัญที่สุด เพราะรับกับถนนโบราณที่ตัดผ่านมาจากเมืองพระนครเข้าสู่ตัวปราสาทพิมาย หากหยุดยืนที่ช่องประตูเมืองด้านทิศใต้ จะมองเห็นปราสาทหินพิมาย ผ่านช่องประตูเมืองพอดี ลักษณะประตูเมืองมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีทางผ่านตลอดกลางประตู ส่วนของหลังคาได้หักพังไปหมดแล้ว
เมรุพรหมทัต อยู่นอกกำแพงปราสาทด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐ ปัจจุบันเป็นมูลดินทับถมจนเป็นรูปกลมสูงประมาณ 30 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 59 เมตร ที่เรียกว่าเมรุพรหมทัตเพราะเชื่อว่า เป็นที่ถวายเพลิงพระศพท้าวพรหมทัตตามตำนานนั่นเอง แต่จากลักษณะการก่อสร้างเข้าใจว่า สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานทางด้านทิศใต้ได้แก่ ท่านางสระผม กุฏิฤาษี และอโรคยาศาล